วิธีคำนวณกระเบื้องปูพื้น แบบเข้าใจง่าย

เมื่อคิดจะซื้อกระเบื้องเซรามิกมาใช้งานปูพื้นห้อง หรือใช้กรุผนังห้องที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้กระเบื้องทั้งหมดกี่แผ่นกลัวซื้อไปแล้วจะไม่พอต้องเสียเวลากลับไปซื้อใหม่หรือหากกระเบื้องเหลือมากเกินไปก็สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แถมยังเป็นภาระต้องหาที่เก็บกระเบื้องอีกต่างหาก วันนี้มีคำแนะนำ วิธีคำนวณกระเบื้อง ดีๆมาฝากกัน

1. เลือกขนาดกระเบื้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ กระเบื้องมีให้เลือกมากมายหลายขนาด นอกจากจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้ว ยังมีรูปทรงอื่นๆให้เลือกอีกหลายชนิด อาทิ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 8 X10 นิ้ว, 10X16 นิ้วฯลฯ โดยจุดเด่นของกระเบื้องแบบนี้ก็คือ เหมาะกับการปูในพื้นที่กว้างๆ แต่จริงๆแล้วก็ไม่มีขนาดตายตัวว่าต้องใช้กระเบื้องขนาดเท่าใด จะใช้แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพียงเราเลือกขนาดกระเบื้องให้เหมาะสมกับห้องนั้นๆ เช่น ห้องนั่งเล่นที่เราจะปูพื้นมีขนาดใหญ่ เราก็สามารถเลือกใช้กระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ได้ อาทิ 12 X 24 นิ้ว, 24X24 นิ้ว แต่ถ้าเป็นห้องขนาดเล็ก ขนาดของแผ่นกระเบื้องก็ควรเล็กลงตามไปด้วย เพราะถ้าใช้กระเบื้องแผ่นใหญ่อาจดูเทอะทะไป ทำให้ห้องดูไม่สวยงาม

2. เลือกกระเบื้องที่อยู่ในกระบวนการผลิตเดียวกัน สิ่งสำคัญของการเลือกซื้อกระเบื้องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เราควรเลือกซื้อกระเบื้องที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตเดียวกันมาปูพื้นหรือกรุผนังพร้อมๆกัน โดยตัวเลข (Lot) การผลิตนั้นจะเขียนหรือพิมพ์ติดไว้ที่ข้างกล่อง การที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะว่า การผลิตกระเบื้องนั้น ถึงแม้จะเป็นลวดลายเดียวกัน สีเหมือนกัน ยี่ห้อเดียวกัน แต่ถ้าต่างล็อตการผลิตแล้ว แผ่นกระเบื้องก็จะมีความต่างกันพอสังเกตได้ ดังนั้นถ้าอยากให้พื้นหรือผนังของเราออกมาสวยงาม เรียบเนียนเป็นแนวเดียวกัน ควรเลือกซื้อกระเบื้องที่มีเลข Lotชุดเดียวกันจะดีที่สุด

3. หลักการคำนวณง่ายๆ ในการเลือกกระเบื้องให้ได้จำนวนเหมาะกับพื้นที่ห้อง สูตรคำนวณพื้นที่ (พื้นที่ = ด้านกว้าง X ด้านยาว) ตัวอย่างเช่น เราจะปูพื้นกระเบื้องในห้องขนาดกว้าง 5 เมตร และยาว 10 เมตร เมื่อนำสูตรมาใช้ก็จะคำนวณพื้นที่ได้ 50 ตารางเมตร (5X10 = 50) และโดยส่วนใหญ่แล้วกระเบื้อง 1 กล่อง ปกติจะปูได้ 1 ตารางเมตร ดังนั้นเท่ากับว่าเราต้องใช้กระเบื้องตามพื้นที่จริงจำนวน 50 ตารางเมตรหรือ 50 กล่อง แต่อย่างไรก็ดีควรจะซื้อเผื่อไว้ใช้แก้ไขงานอีกประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่จะใช้งานจริงและเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วให้เก็บกระเบื้องส่วนที่เหลือไว้สำหรับกรณีมีการซ่อมแซมในอนาคตเพื่อให้ได้กระเบื้องที่เป็นรุ่นและเฉดสีเดียวกัน

อย่าลืม !! จดชื่อรุ่นสินค้า ปีที่ผลิต หรือเก็บรหัสที่ข้างกล่องไว้ด้วย เผื่อกระเบื้องที่ซื้อไปปูแล้วเสียหายหรือปูแล้วไม่พอ ก็สามารถหาซื้อใหม่ได้ และเทียบเฉดสีและล็อตในการผลิตเพื่อให้ได้เฉดสีที่ตรงกัน เพราะอย่างลืมว่าการเผากระเบื้องในแต่ละครั้ง เฉดสีอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นหากเทียบล็อตการผลิตให้ใกล้เคียงที่สุดก็อุ่นใจได้ว่าสีจะไม่เพี้ยนมาก